[ บทความ : DnRx051 บอร์ดไมโครคอนโทรลเลอร์ ] สำหรับ AT89C2051/AT89C4051

จากบทความตอนที่แล้ว ผมได้แนะนำบอร์ดที่ทางโปรแกรมวิชาอิเล็กทรอนิกส์ใช้ในแล็บไปแล้ว [elec51 MiniBoard] คราวนี้ผมก็จะเอาบอร์ดตัวอย่างที่ใฃ้ในแล็บของผมบ้างล่ะ ... ความแตกต่างของบอร์ดคงเป็นที่ ผมใช้ไมโครคอนโทรลเลอร์ MCS-51 ขนาดเล็ก คือ AT89C2051 กับ AT89C4051 ... ที่ผมเลือกใช้รุ่นขนาดเล็ก ก็เพราะว่า งานทดลองของผมนั้นไม่ค่อยซับซ้อน โดยมากก็ทดลองขับมอเตอร์ หรือไม่ก็ทดลองต่อวงจรแบบต่างๆ ซึ่งมักใช้กับ Bread Board เป็นหลัก ..

ดังนั้น หน้าตาของบอร์ดที่ผมใช้เลยออกไปทางเอามาเสียบบน Bread Board ได้เลย และจากบอร์ดของผมก็จะมีพอร์ตให้ใช้อีก 15 บิต คือ จาก P1.0 - P1.7 กับ P3.0 - P3.5 และ P3.7 จะเห็นว่าผมเองไม่ค่อยเน้นใช้ RS232 สักเท่าไร เพราะเวลาทดสอบโปรแกรมก่อนที่จะมาเขียนลง AT89C2051/AT89C4051 ผมก็จะใช้บอร์ดคอนโทรลเลอร์ หรือไม่ก็ single board เป็นหลัก พอได้โปรแกรมออกมาตามที่ต้องการแล้ว ก็จะเอามาดัดแปลงเพื่อใช้กับ AT89C2051/AT89C4051 อีกครั้งหนึ่ง ก่อนเอาไปใช้งานจริง ... แต่ข้อเสียของ Controller Board และ Single Board ก็คือ บริษัทใครออกแบบ ก็จะจัดวางขาพอร์ตตามมาตรฐานของตนเอง ทำให้ไม่สะดวกนักในการทดลอง ... นั่นเป็นเหตุผลที่ทำให้ผมต้องมีบอร์ดทดลองประจำตัวขึ้นมาอีก 1 ตัวไงครับ...

ว่าแล้วเรามาดูวงจรของบอร์ดกันเลยครับ

จากวงจรจะเห็นว่าความซับซ้อนนั้นแทบไม่มี อุปกรณ์สำหรับบอร์ดนี้มีดังนี้ครับ

1. ไอซีไมโครคอนโทรลเลอร์ AT89C2051 หรือ AT89C4051 จำนวน 1 ตัว
2. ตัวต้านทาน 4.7K จำนวน 1 ตัว
3. ตัวต้านทาน 500 Ohm จำนวน 1 ตัว
4. LED สีแดง จำนวน 1 ตัว
5. ตัวเก็บประจุ 47uF จำนวน 1 ตัว
6. ตัวเก็บประจุ 22pF จำนวน 2 ตัว
7. ตัวเก็บประจุ 0.1uF (สำหรับทำบายพาสของไอซี โดยต่อคร่อมขา Vcc กับ GND ของไอซี) จำนวน 1 ตัว
8. คริสตอลความถี่ 12MHz จำนวน 1 ตัว
9. สวิทซ์ แบบกดติดปล่อยดับ จำนวน 1 ตัว
10. ซ็อกเก็ต 20 ขา จำนวน 1 ตัว

นอกจากรายการอุปกรณ์ด้านบนแล้ว ยังต้องการเครื่องโปรแกรมไอซี AT89C2051 / AT89C4051 อีกด้วยนะครับ .. ซึ่งคงจะ ต้องซื้อหามาใช้กันตามความต้องการครับ (มีหลายรุ่น ชอบใจของใครก็ซื้อของบริษัทนั้นล่ะกันครับ) ส่วนถ้าต้องการของฟรี ก็ ต้องลงไม้ลงมือกันหน่อยล่ะครับ ... หารายละเอียดได้ที่ http://apl1.sci.kmitl.ac.th ...

เสร็จแล้วก็มาดูวงจรส่วนแปลงไฟจาก 9-12 VDC มาเป็น 5VDC เพื่อใช้กับบอร์ดกันครับ หน้าตาของวงจรก็จะเป็นดังนี้ครับ

รายการอุปกรณ์เป็นดังนี้ครับ

1. 7805 จำนวน 1 ตัว
2. แผ่นระบายความร้อนสำหรับ 7805 จำนวน 1 ตัว
3. ไดโอด 1N4001 จำนวน 4 ตัว
4. ตัวเก็บประจุ 220uF 25V จำนวน 2 ตัว
5. ตัวเก็บประจุ 0.1uF จำนวน 1 ตัว

จะเห็นว่าเพียงอุปกรณ์น้อยนิดเราก็สามารถที่จะใช้งานไมโครคอนโทรลเลอร์ MCS-51 ได้แล้ว ... จะแพงสักหน่อยคงเป็นที่เครื่องโปรแกรมชิพ AT89C2051/AT894051 เท่านั้นครับ ... ส่วนตัวชิพเองก็สามารถเขียนแล้วลบได้กว่า 1000 ครั้ง ดังนั้น ก็เรียกได้ว่า ไม่แพงเมื่อเทียบกับราคาไม่ถึง 150 บาท (โดยประมาณนะครับ) รูปด้านล่างเป็นรูปของบอร์ดและแหล่งจ่ายไฟครับ


รูปด้านหน้าของบอร์ดควบคุม DnRx051


รูปด้านหลังของบอร์ดควบคุม DnRx051


รูปด้านหน้าของบอร์ดแหล่งจ่ายไฟ 5 V


รูปด้านหลังของบอร์ดแหล่งจ่ายไฟ 5 V

อ้อ ... ก่อนที่จะจบบทความตอนนี้ผมอยากบอกว่า ตอนนี้ผมใช้ AT89C4051 กับ Micro-C51 ก็ใช้งานได้ดีทีเดียวครับ เพราะ AT89C4051 นั้น มีโครงสร้างเหมือน 8051 (แต่พอร์ตน้อยกว่า) ทั้งในด้านหน่วยความจำภายในชิพ (Internal RAM) และ ROM (AT89C4051 เป็น Flash) คือได้ 4KB ซึ่งเพียงพอกับภาษาซีในการเขียนงานที่ไม่ซับซ้อนมากๆ ครับ (ถ้าซับซ้อนมากๆ ก็ต้องหาบอร์ดที่มีทรัพยากรที่มากกว่านี้ล่ะครับ) ... ส่วนตัวอย่างการทดลอง (LAB) อ่านได้จากบทความ LAB #1 ติดต่อกับ LED ครับ ...


เขียนโดย : ศุภชัย บุศราทิจ
Author : Supachai Budsaratij
e-mail : raek@se-ed.net
วันที่ทำการปรับปรุง : ๒๙ มิ.ย. ๒๕๔๓, ๒๓ ก.ค. ๒๕๔๓, ๓๑ ก.ค. ๒๕๔๓.